สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถร ป.ธ.๙)
ชาติภูมิ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีนามเดิมว่า ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันพุธ ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู บ้านเลขที่ ๓๒ ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรของนายมิ่ง และนางสำเภา สุดประเสริฐ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน คือ
และมีน้องร่วมมารดาอีก ๔ คน คือ
บรรพชา
ขณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอายุได้ ๗ ปี นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาได้ถึงแก่กรรม ญาติจึงให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟตามประเพณี เพื่ออุทิศทักษิณากุศลแก่พ่อมิ่ง สุดประเสริฐ ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูวิชิตสังฆภาร (ชิต อมฺพโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ท่านไม่ได้ลาสิกขา ยังคงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาสิกขา
นับตั้งแต่นั้นก็มีความผูกพัน มีความคุ้นเคยกับพระภิกษุสงฆ์สามเณรภายในวัด หากทางวัดมีกิจกรรม มีงานอันใด ก็มีอันต้องไปร่วม ไปช่วยอยู่ตลอดไม่ขาด จึงทำให้จิตใจมีความโน้มไปในการบรรพชา และมีความประสงค์จะบรรพชาอีกครั้งหนึ่ง
พออายุได้ ๑๔ ปี จึงบรรพชาอีกครั้ง ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูศีลาภิรัต (ทอง ธมฺมโชโต) วัดลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์
ในระหว่างแห่งการบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในด้านต่างๆ จึงมีความปรารถนาที่จะมาพึ่งบารมีธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำตั้งแต่นั้นมา พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้ย้ายมาอยู่วัดปากน้ำ โดยพระแจ่ม วัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ และมีนายสี ผู้เป็นพี่ชายตามมาส่ง
อุปสมบท
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ได้รับฉายาว่า “วรปุญฺโญ” โดยมี พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทโส) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
การศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๐ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนประชาบาล วัดสังฆราชา ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
การศึกษาพิเศษ
ได้ศึกษาสมถะ-วิปัสสนา ตามแนววิชชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตั้งแต่เป็นสามเณรถึงปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๘ เป็นผู้ทรงจำและสวดพระปาฏิโมกข์ ณ วัดเบญจมบพิตร และวัดปากน้ำ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ท่านก็สอบได้ในชั้นนั้นๆ เป็นลำดับมาจนถึงชั้น ประโยค ป.ธ.๘ แต่นั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงได้นำไปฝากกับเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร ป.ธ.๙) เพื่อให้ศึกษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามต่อไป
หลังจากสำเร็จการการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ไปรับท่านกลับมา ซึ่งขณะนั้นเป็นพระหนุ่ม ได้นำกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ดำริ และริเริ่มไว้จวบจนถึงปัจจุบันนี้
ดังมีความตอนหนึ่งในหนังสือจดหมายหิมพานต์ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์ วัดสามพระยา ครั้งมีสมณศักดิ์ที่พระธรรมปัญญาบดีในครั้งนั้น ได้เขียนข้อความให้หลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทราบความเป็นไปว่า
“...เมื่อครั้งเจ้าคุณยังเป็นเปรียญอยู่วัดเบญจมบพิตรฯ สมเด็จพระสังฆราชวัดเบจมบพิตรฯ ครั้งยังมิได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เคยบอกกับผมในเมื่อผมกราบเรียนถึงสำนักเดิมของเจ้าคุณว่า ท่านวัดปากน้ำ (หมายถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำ) นำมาฝาก บอกว่าจะเอาไว้แทนตัว เมื่อเรียนจบแล้วก็จะขอนำกลับไปวัดปากน้ำ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านมีญาณไกลทีเดียว ในการที่หมายมั่นปั้นมือจะเอาเจ้าคุณไว้แทนตัว สมเด็จพระสังฆราชวัดพระเชตุพนก็เห็นได้ถูกต้อง ในการที่ยกย่องเจ้าคุณเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเป็นทายาทของพ่อวัดปากน้ำ เพราะนับตั้งแต่เจ้าคุณได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ศาสนกิจ ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุของวัดปากน้ำได้เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ไม่มีผู้ใดจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตามที่จะปฏิเสธได้เลยแม้แต่น้อย...”
สมณศักดิ์
อาพาธ - มรณภาพ
วันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๑.๐๐ น. เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ฉันอาหารไม่ได้ ถึงกลางคืนปวดถ่ายอุจจาระ แต่ถ่ายไม่ออก ประกอบกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเป็นๆ หาย ๆ ถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. ของเช้าวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะศิษยานุศิษย์ จึงพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช และในวันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะแพทย์จึงนำห้องผ่าตัดฉุกเฉิน ผลจากการผ่าตัด คณะแพทย์สรุปสาเหตุว่า เป็นลำไส้อุดตัน
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะแพทย์ถวายคำแนะนำให้ล้างไต โดยการฟอกเลือด เนื่องจากมีภาวะของเสียคลั่งในเลือดสูง เริ่มแรกสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ต่อมาคณะแพทย์เห็นว่า ของเสียในเลือดยังคงสูงอยู่ จึงถวายการรักษาโดยการฟอกเลือดสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง เป็นลำดับมา แต่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ได้พักรักษาอาการในโรงพยาบาล เนื่องจากสุขภาพยังแข็งแรงดี
วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ หลังการฟอกเลือด เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอาการอ่อนเพลียมาก คณะแพทย์จึงถวายคำแนะนำให้พักรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาล แต่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขออนุญาตคณะแพทย์กลับมาวัดปากน้ำเป็นระยะเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ
ต่อมาวันที่ ๑๗ ตุลาคม พงศ. ๒๕๖๓ คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อยู่พักรักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลศิริราช มาโดยตลอด วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ สุขภาพของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรุดลง คณะแพทย์จึงได้ขอนัดประชุมร่วมกับคณะพระเถระ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ณ ตึก ๘๔ ปี เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้คณะแพทย์ถวายการรักษาท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตามอาการ ในที่สุดวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๐๕.๔๘ น. เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้มรณภาพอย่างสงบ ณ ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๖ (ตะวันตก) โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ ๙๖ ปี ๓ เดือน ๑๔ วัน พรรษา ๗๖ รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำพระอารามหลวง แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น ๕๖ ปี ๕ เดือน ๖ วัน