วัดปากน้ำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ เลขที่ ๓๐๐ ถนนรัชมงคลประสาธน์ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย มีเนื้อที่ ประมาณ ๒๐ ไร่ ๘๘ ตารางวา ตั้งวัดเมื่อ ประมาณ พ.ศ. ๒๑๕๓ (ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๕๘ โดยมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๒.๒๐ เมตร ยาว ๒๖ เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๙๙ (ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)
อาณาเขต
วัดปากน้ำ ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมคลองหลวงหรือ คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวรารามและกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เนื่องจากวัดตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวงอีกทีหนึ่ง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า “วัดปากน้ำ” ซึ่งชื่อนี้ มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๕๓ และ พ.ศ. ๒๔๗๔ ว่า “วัดสมุทธาราม” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันอย่างนั้น คงเรียกว่าวัดปากน้ำ มาโดยตลอด
วัดปากน้ำ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง (ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑–๒๑๗๒) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏใน “ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาว่าเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา อันหมายถึงพระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสีทรงสถาปนาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ได้พบร่องรอยคลองเล็กด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของวัด ที่โบราณขุดไว้เป็นแนวเขตที่ดินของวัดหลวงสมัยอยุธยา ที่ตั้งของวัดปากน้ำจึงมีลักษณะ เป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมอยู่ทุกด้าน สถาปัตยกรรมและศิลปะวัตถุที่อยู่คู่วัดมาเช่น หอพระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบกล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตัวพระอุโบสถก็ใช้เทคนิคการก่อสร้างในสมัยนั้น ได้ค้นพบนามเจ้าอาวาส ๑ รูป ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) คือพระครูธนะราชมุนี ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วัดปากน้ำมีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงเนื่องจากไม่มีเจ้าอาวาสประจำ คงมีแต่เพียงผู้รักษาการที่อยู่ในอารามอื่นเท่านั้น
พระศากยปุตติยวงศ์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพนฯ เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในสมัยนั้น จึงได้มอบหมายและแต่งตั้งให้พระสมุห์สด จนฺทสโร มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระสมุห์สด จนฺทสโร จึงย้ายจากวัดพระเชตุพนฯ โดยอาศัยเรือยนต์หลวง ที่กรมศาสนาจัดถวายเพื่อเป็นเกียรติแก่พระอารามหลวงมีพระอนุจรติดตามมา ๔ รูป ทางกรมศาสนาได้จัดสมณบริขารถวายพร้อมทั้งนิตยภัตอีก ๔ เดือนๆ ละ ๓๐ บาท พระอนุจร ๔ รูปๆ ละ ๒๐ บาท โดยมีเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญติดตามมาส่ง และมีพระเถรานุเถระและพระสังฆาธิการ คฤหัสถ์ชายหญิงในอำเภอจำนวนมากมาคอยต้อนรับทั้งนี้ พระสมุห์สด จนฺทสโร ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระศากยปุตติยวงศ์ ในตำแหน่งพระสมุห์ด้วย หลังจากเข้ารับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำนั้น เบื้องต้นได้มีการประชุมพระภิกษุสามเณร เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในการมารับตำแหน่ง ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำได้เมตตาให้โอวาท “เป็นปฐมโอวาท” ดังใจความตอนหนึ่งว่า “เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัด และปกครองตักเตือน ว่ากล่าวผู้ที่อยู่ในวัด ในพระธรรมวินัย อันจะให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง และเห็นอกเห็นใจกัน จึงจะทำความเจริญให้ได้ถิ่นนี้ไม่คุ้นเคยกับใครเลย มาอยู่นี้เท่ากับถูกปล่อยโดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะต่างไม่รู้จักกัน แต่ก็มั่นใจว่า ธรรมที่เราปฏิบัติตรงต่อพระพุทธโอวาท จะประกาศความราบรื่นและรุ่งเรืองให้แก่ผู้มีความประพฤติ เป็นสัมมาปฏิบัติ ธรรมวินัยเหล่านั้นจะกำจัดอธรรมให้สูญสิ้นไป...”
ต่อมาหลังจากที่ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ท่านได้อบรมสั่งสอนให้พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติพุทธวิปัสสนาวิชชาธรรมกายส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นต้นว่า บาลี-นักธรรม โดยตั้งสำนักเรียนพร้อมทั้งสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังใหญ่และทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นทำให้มีพระภิกษุ, สามเณร, แม่ชี ตลอดถึงสาธุชนผู้สนใจเข้ามารับศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดปากน้ำ จึงเจริญขึ้นโดยลำดับ นับเป็นศูนย์กลางของการศึกษาทั้งปริยัติ และปฏิบัติตั้งแต่นั้นมา